TH
EN
MENU
หน้าแรก / แนะนำท่องเที่ยว

“เที่ยวเมืองสุรินทร์” ดินแดนอารยธรรมนับพันปี

เรามาเริ่มต้นกันที่หมู่บ้านช้างศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง จ.สุรินทร์ เป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้างมากกว่า 200 เชือก


หมู่บ้านช้างศูนย์คชศึกษา

          เรามาเริ่มต้นกันที่หมู่บ้านช้างศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง จ.สุรินทร์ เป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้างทั้งในบ้านกะโพ ตากลาง และจากหมู่บ้านอื่น ๆ ในจังหวัดสุรินทร์ มากกว่า 200
 เชือกซึ่งจัดให้เป็นวิถีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันของคนกับช้าง โดยมีทั้งบ้านเรือนของชาวบ้านหรือที่เรียกว่าควาญช้าง และมีที่อยู่ของช้างอยู่ทั่วบริเวณ เป็นวิถีชีวิตที่น่าทึ่งมาก ๆ ไม่ว่าเราจะเดินไปบริเวณไหนเราก็จะพบเห็นช้างอยู่แทบทุกที่ ซึ่งช้างแต่ละเชือกก็เป็นช้างแสนรู้น่ารัก ไม่ดุร้าย และสามารถเข้ากับคนได้ง่าย ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันกับคน เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ช้างกับคนอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข และที่นี่ยังมีการแสดงความสามารถอันเฉลียวฉลาดและน่ารักของช้างในศูนย์ฯ อาทิ ช้างปาลูกโป่ง ช้างชูตบาสเกตบอล ช้างเตะฟุตบอล ฯลฯ
 
          โดยจะเปิดการแสดงทุกวัน วันละ 2 รอบ คือ 10.30 น. และ 14.30 น. ไม่เว้นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์
 
 


 


แคมป์ช้างชุมชนเขวาสินรินทร์

          นอกจากหมู่บ้านช้างแล้ว ยังมีแคมป์ช้างชุมชนเขวาสินรินทร์ ที่มีพลายป๋องช้างแสนรู้ที่เปิดโอกาสให้ท่านได้เที่ยวและนั่งขี่ช้างชมบรรยากาศบ้านทุ่ง ใครที่อยากได้ภาพประทับใจกับพลายป๋องสามารถไปเยี่ยมชมเก็บภาพที่ระลึกครั้งหนึ่งในชีวิตที่เราได้ขี่หลังช้างงาสวย ๆ ตัวเป็น ๆ วัย 21 ขวบ ตัวนี้ได้ นอกจากแคมป์ช้างแล้วชุมชนเขวาสินรินทร์เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าไหมพื้นเมืองและการผลิตลูกประคำเงิน ที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เรียกกันว่า ลูกปะเกือม นำมาทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรีที่สวยงาม มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าในบริเวณหมู่บ้าน ราคาย่อมเยา

 



 

 

วัดบูรพาราม

 

         ตั้งอยู่ที่ถนนกรุงศรีใน ตำบลในเมือง ใกล้กับศาลากลางจังหวัด เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของจังหวัด คือ หลวงพ่อพระชีว์ (หลวงพ่อประจี) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดบูรพาราม

 

         และยังเป็นวัดที่พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดุลย์ อตุโล) พระเถระ สายพระกัมมัฏฐาน ด้านการภาวนาจิต ทีมีชื่อเสียงแผ่ไพศาล ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมสายพระกัมมัฏฐาน ท่านได้เคยจำพรรษาอยู่ ณ วัดบูรพาราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 จนกระทั่งมรณภาพ พ.ศ. 2526 ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ดุลย์ ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่ดุลย์ อตุโล พร้อมทั้งภาพประวัติของพระเถระด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน พระอาจารย์มั่นและลูกศิษย์

 
 
 
 

คติธรรมคำสอนหลวงปู่ดุลย์ อตุโล


          “ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้า-ชาติหลัง หรือ นรก-สวรรค์อะไรก็ได้ ขอให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรง ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง 16 ชั้น ตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้วก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองตามลำดับ หรือถ้า สวรรค์-นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีในขณะนี้ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ”

 

          จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
          ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
          จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
          ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ
 
          “คิดเท่าไร ๆ ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั้นแหละจึงรู้”

          ด้วยวัดบูรพารามนี้เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี หรือในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีอายุประมาณ 200
ปี เท่ากับอายุเมืองสุรินทร์ สร้างโดยพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) กรรมการศาสนา ได้ยกขึ้นเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ. 2511 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดบูรพารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520
 
 
 
 

ห้วยเสนง

          อ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีขนาดใหญ่มากจนดูเหมือนทะเลที่กว้างใหญ่มีโรงสูบน้ำประปาตั้งอยู่ลึกเข้าไปในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ได้เห็นอยู่กลางน้ำ อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางถนนสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข 214) จากตัวเมืองสุรินทร์ออกมาไม่ไกลมากนักก็ถึงทางแยกเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ทางหลวงชนบท สร.5051
 เป็นถนนคู่ขนานเลียบกับคลองชลประทาน มีถนนทั้ง 2 ฝั่งของคลอง ลึกเข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร อ่างเก็บน้ำแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2520 ปัจจุบัน เขื่อนห้วยเสนงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสุรินทร์มายาวนาน จนได้ชื่อว่า “ทะเลสุรินทร์” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสวรรค์ชายหาดของคนชาวสุรินทร์ และภายในที่ทำการชลประทานมีพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอีกด้วย


วัดพระพุทธบาทพนมดิน

 
          ในสมัยที่มีการก่อตั้งวัดในช่วงแรก ๆ ชื่อวัดพระพุทธบาทเขาพนมดิน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดพระพุทธบาทพนมดิน (ตัดคำว่า “เขา” ออก) มีหลวงปู่ธรรมรังษี เป็นเจ้าอาวาส และเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์ เมื่อยามที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ พลังศรัทธาของญาติธรรมหลั่งไหลมายังวัดพระพุทธบาทพนมดินแห่งนี้อย่างไม่ขาดสายในแต่ละวัน ทั้งนี้เนื่องมาจากวัตรปฏิบัติที่เข้มข้นของหลวงปู่ธรรมรังษี ประกอบกับพุทธาคมที่เข้มขลังสายเขมร ชื่อของหลวงปู่ธรรมรังษีจึงเป็นสุดยอดพระเกจิแห่งแดนอีสานใต้ วัดป่าแห่งนี้มีสิ่งก่อสร้างที่สวยงามบรรยากาศที่ร่มรื่นเงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ตั้งอยู่ติดถนนสายสุรินทร์ - ท่าตูม ทางทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอท่าตูม ห่างจากอำเภอท่าตูม ประมาณ 5 กิโลเมตร


          นี่เป็นเพียงบางส่วนของสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสุรินทร์ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมายให้เราได้ไปสัมผัสดินแดนแห่งเมืองอารยธรรมนับพันปีที่มีจุดเด่นในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ที่คุณจะประทับใจอย่างแน่นอน.....