TH
EN
MENU
หน้าแรก / แนะนำท่องเที่ยว

“บ่อเกลือภูเขา...” เสน่ห์เมืองน่าน

สิ่งที่ทำให้พื้นเมืองน่านน่าเชื่อถือประการหนึ่ง คือ การยึดครองบ่อเกลือเมืองน่าน ซึ่งเกลือถือว่าเป็นยุทธปัจจัยชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้


 

 

ย้อนอดีตบ่อเกลือ

 

          “พ.ศ. ๑๙๘๖ พญาอินต๊ะแก่นท้าวเจ้าเมืองน่านมีกลอุบายแจ้งไปยังเชียงใหม่ว่ามีศึกแกว (ญวน; ไดเวียต) จะยกทัพมาตีเมืองน่าน ทางเมืองเชียงใหม่จึงส่งกองทัพมาช่วยรักษาเมือง ภายหลังทราบไม่เป็นความจริง พญาติโลกราชจึงยกทัพมาตียึดเอาเมืองน่าน รวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา”

          “พ.ศ. ๑๙๙๓ เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวเจ้าเมืองน่านแต่งทูตนำเกลือบ่อมางไปเป็นบรรณาการถวายพญาติโลกราช เจ้านครเชียงใหม่ ต่อพญาติโลกราชมีพระประสงค์ยึดครองเมืองน่าน เพื่อต้องการครอบครองบ่อเกลือ จึงยกทัพมาตีเมืองน่าน”

          ทั้งสองย่อหน้าข้างต้นเป็นบันทึกในพงศาวดารของเมืองเชียงใหม่ และเมืองน่านตามลำดับ ความขัดแย้งของสองตำนานดูเหมือนจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงทั้งมูลเหตุของสงครามและปี พ.ศ. โดยฝ่ายพื้นเมืองน่านดูจะสมเหตุสมผลกว่า พื้นเมืองเชียงใหม่ เพราะเมืองน่านเป็นเมืองเล็กจะมีกลอุบายกับเมืองเชียงใหม่เห็นจะยาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะหลอกว่ามีศึกแกว 
อีกทั้งยังมองไม่เห็นหนทางเมืองน่านจะได้เปรียบประการใดหลังจากเมืองเชียงใหม่ส่งกองทัพมาประจำที่เมืองน่านแล้ว


          สิ่งที่ทำให้พื้นเมืองน่านน่าเชื่อถือประการหนึ่ง คือ การยึดครองบ่อเกลือเมืองน่าน ซึ่งเกลือถือว่าเป็นยุทธปัจจัยชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรุงอาหาร การถนอมอาหาร และในปัจจุบันเราทราบดีกว่า เกลือเป็นส่วนประกอบหลักของอุตสาหกรรมหลายประการ นอกจากนี้เกลือยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของสารเคมีอื่นอีกเช่นกัน
 

 

 

 

          เกลือสินเธาว์เป็นเกลือที่ได้จากแร่เกลือที่อยู่ในดิน ในประเทศไทยมีหลายที่ แต่เป็นบ่อเกลือเพียงไม่กี่แห่ง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ แอ่งบ่อเกลือ จังหวัดน่าน บ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และแถบภาคอีสาน ที่แอ่งสกลนคร และแอ่งโคราช ทั้งสองแหล่งนี้เป็นพื้นที่เกลือเข้มข้น มีจำนวนมาก โดยเฉพาะแหล่งเกลือพิมายมีโรงผลิตเกลือเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ส่งเกลือออกมากที่สุดในเอเชียเลยทีเดียว


          ที่ราบลุ่มแม่น้ำสงคราม เป็นแหล่งผลิตเกลือแหล่งใหญ่ของแอ่งสกลนคร ปัจจุบันยังมีการผลิตกันอยู่ และพื้นถิ่นแห่งนี้มีตำนานผาแดงนางไอ่ที่กินเนื้อกระรอกเผือกแล้วเกิดดินถล่มกลายเป็นหนองหาน ทางนักมนุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องปรัมปรา ตำนานต่าง ๆ ก็มีแนวคิดว่า กระรอกเผือกก็คือเกลือนี่เอง ส่วนเรื่องผาแดงนางไอ่ก็เป็นเรื่องความรัก ความโลภ ความโกรธ ของมนุษย์โลกจนทำให้เกิดวิกฤติต่าง ๆ

          แหล่งเกลือบ่อโพธิ์นั้นก็มีตำนานและเชื่อว่าเป็นบ่อพันปีตั้งแต่สมัยพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนศรีนาวนำถมเลยทีเดียว เป็นบ่อน้ำเค็มผุดมาจากลำน้ำเล็ก ๆ และบริเวณที่น้ำเค็มผุดออกมานั้นเป็นต้นโพธิ์จึงเป็นที่มาของชื่อ บ่อโพธิ์

          สำหรับบ่อเกลือสินเธาว์ที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน นั้นเป็นสิ่งที่แปลกที่มีแหล่งเกลืออยู่บนพื้นสูง และกันดารห่างไกลจากท้องทะเล ทำให้หลายคนคิดว่า พื้นที่บริเวณดอยภูคาเคยเป็นทะเล ทำให้มีนำเค็มหรือเกลืออยู่ในภูเขา แต่ความเป็นจริงแล้วนักธรณีวิทยาได้สำรวจแหล่งแร่ พบว่าพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ มีชั้นหินเกลืออยู่ใต้ดิน เมื่อน้าจืดไหลไปละลายเกลือและดันออกมาตามพื้นผิวจนเป็นแหล่งน้ำเค็มสำหรับทำเกลือสินเธาว์แห่งหนึ่ง

 

 

 

 

          อำเภอบ่อเกลือเป็นอำเภอเล็ก ๆ สันฐานยาวตามร่องเขา ด้านทิศตะวันตกมีดอยภูคากั้นแยกจากอำเภอปัว ทิศตะวันออกมีภูเขากั้นระหว่างชายแดนลาว ทิศเหนือติดกับอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นทางออกตรงด่านห้วยโก๋น ไปยังเมืองหลวงพระบางซึ่งอยู่ห่างไปเพียง ๙๐ กิโลเมตร ทางทิศใต้ติดกับอำเภอสันติสุขและอำเภอท่าวังผา เป็นทางออกไปยังเมืองน่านและเมืองสุโขทัยได้

          ตามภูมิศาสตร์แล้วบ่อเกลือจึงเป็นพื้นที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ แต่กระนั้นบ่อเกลือก็ไม่พ้นสงคราม โดยเฉพาะสงครามพม่าพื้นที่บ่อเกลือกลับมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับศึกม่าน (พม่า) กันอยู่ อีกทั้งมีการค้นพบหลักจารึกวัดม่าน หรือวัด จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์

          จารึกได้กล่าวถึงเจ้าหัวแสนเมืองเชียงขวง (ขวาง) สร้างวัดชื่อว่า นิรัครคัทธาอาราม ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ใกล้แม่น้ำมาง ตามจารึกระบุ พ.ศ. ๒๑๐๘ ซึ่งตรงกับสมัยพญาหน่อคำเสถียรชัยสงครามครองเมืองน่าน ยุคนั้นเป็นยุคพม่ายึดครองเมืองล้านนา และตรงสมัยพระนางวิสุทธิเทวีครองเมืองเชียงใหม่ ส่วนทางอยุธยาก็ตรงรัชสมัยพระไชยราชานั่นเอง

          การค้นพบจารึกวัดร้างใกล้แม่น้ำมาง สอดคล้องกับคำาบอกเล่าของชาวบ้านชาวบ่อเกลือต่างบอกว่า บริเวณนั้นเป็นวัดม่าน หรือวัดพม่าชาวบ้านสมัยก่อนยังไปขุดจืน (ตะกั่ว) เอามาทำกระสุนลูกปรายเพื่อล่าสัตว์จนหมด ก่อนที่จะปรับพื้นที่เพื่อทำโรงพยาบาลบ่อเกลือในปัจจุบัน

 

 

 

 

          จากประวัติศาสตร์สามารถบอกเล่าถึงความสำคัญของพื้นที่บ่อเกลือ คือ แหล่งผลิตเกลือสินเธาว์แห่งหนึ่งในล้านนา ซึ่งผลิตกันมายาวนานก่อนหน้านั้นเสียอีก สอบถามชาวบ้านต่างบอกว่า ไม่ต่ำกว่า ๘๐๐ ปี ซึ่งก็เทียบเคียงสมัยสุโขทัย แต่นั่นเป็นเพียงหลักฐานที่ผู้มายึดครองบ่อเกลือโดยเจ้าเมืองน่านอพยพเทครัวเมืองเชียงแสนมาอยู่ที่นี่เพื่อผลิตเกลือ จากเดิมที่เป็นชนพื้นถิ่นเป็นชาวลั๊วะซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในย่านนั้นอยู่แล้ว


          ปัจจุบันการผสมผสานทางเผ่าพันธุ์ และชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ก่อนนั้นยังอาศัยตามป่าเขา ส่วนในแถบย่านตลาดนั้นเป็นชนเมืองล้านนาที่ผสมผสานมาหลายยุคสมัย

บ่อเกลือในปัจจุบัน

 

          หากกล่าวว่า  “เมืองน่านเป็นเมืองปิดต้องตั้งใจไปเท่านั้นแล้ว อำเภอบ่อเกลือยิ่งเป็นเมืองลับแลแห่งหนึ่ง ต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ถึงจะเดินทางไปได้”  นั่นเป็นเพราะภูมิศาสตร์ที่เป็นหุบเขา การเดินทางไม่ว่าจะไปทางไหนก็ต้องผ่านภูเขา โดยเดินทางได้ ๓ เส้นทาง คือ

         ๑. เส้นทาง น่าน-สันติสุข-บ่อเกลือ ผ่านเส้นทาง ๑๒๕๗ (ภูเขาชันน้อยกว่าแต่ทางคดเคี้ยว)

         ๒. เส้นทาง น่าน-ท่าวังผา-ปัว-บ่อเกลือ ผ่านเส้นทาง ๑๐๘๑ (อ้อมดอยภูคา)

         ๓. เส้นทาง น่าน-ท่าวังผา-ปัว-บ่อเกลือ ผ่านเส้นทาง ๑๒๕๖ (ผ่านดอยภูคา)

 

          แต่ด้วยสภาพถนนลาดยาง รถยนต์เดินทางได้สะดวกเพียงแค่ก่อนเดินทาง ตรวจสอบความพร้อมทั้งรถ น้ำมันและคน แค่นี้ก็ไม่มีปัญหาแล้ว สำหรับคนไม่ชินเส้นทาง ก็ระมัดระวังการขับรถต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

          สำหรับที่พักมีหลากหลายราคาตั้งแต่คืนละ ๕๐๐ บาท ไปจนถึง ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ บาท ช่วงฤดูหนาวที่เป็นเทศกาลควรจองที่พักล่วงหน้า และผู้เขียนแนะนำให้นอนค้างที่บ่อเกลือสักคืนหรือจะนอนที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคาก็ได้ จะได้มีเวลาเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิต ชาวบ่อเกลือ ที่อยู่อย่างเรียบง่าย หลายคนเมื่อไปแล้วก็เดิน ๆ ถ่ายรูปแล้วก็จากไปทำให้พลาดรายละเอียดปลีกย่อยไปหลายอย่าง หากปล่อยชีวิตให้ช้าลง พินิจคุณค่าที่แฝงกับกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าภูมิปัญญาการสร้างบ่อเมื่อพันปีก่อน วิถีการเป็นอยู่ ความมีน้ำใจ ความผูกพันกับบ่อเกลือของชุมชนทำให้รู้สึกถึงคุณค่าต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

          ดังนั้นหากมีโอกาสไปบ่อเกลืออย่าลืมอยู่ชื่นชมธรรมชาติและวิถีความเป็นอยู่ และก่อนไปลองศึกษาประวัติศาสตร์ ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับบ่อเกลือให้มากที่สุดแล้วจะได้อรรถรสในการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นนะครับ... สวัสดีครับ